Chapter 2
ขึ้นเทอมสองมา ๒ อาทิตย์แล้ว
ขึ้นเทอมสองมา ๒ อาทิตย์แล้ว
วันนี้หลังจาก เมย์ นำเข้าแถวเคารพธงชาติเสร็จ จูนกระซิบพลางชี้ให้พวกเราดูนักเรียนที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ จูนบอกว่าเขาย้ายมาจากกรุงเทพ ฯ และอยู่ห้อง ๑ ใคร ๆ ก็พูดกันว่าต้องมีเส้นสายใหญ่แค่ไหนถึงเข้ามาเรียนในเทอมสองได้ และได้อยู่ห้องคิงส์เสียด้วย นอกจากจูนแล้ว เพื่อนในห้องคนอื่น ๆ ก็บ่นถึงเพื่อนใหม่คนนี้ทุกคน เราไม่แปลกใจเท่าไรนัก เพราะใคร ๆ ก็คงอยากให้ห้องเรียนของตนมีเรื่องน่าตื่นเต้นเช่นนักเรียนใหม่ แต่จูนบอกว่า เพราะเขาหน้าตาดีด้วย ถ้าความหน้าตาดีวัดจากการที่เดินไปทางไหนก็มีคนกระซิบกระซาบตามหลัง หรือทุกคนในโรงเรียนรู้จัก จูนก็คงพูดถูก
แต่อาการไม่ทุกข์ร้อนแม้จะโดนจับจ้อง หรือการไม่พูดจาแม้จะมีรุ่นน้องรุ่นพี่มาชวนคุย โดยพาลเดินหนีเอาซะดื้อ ๆ จึงจำกัดความนักเรียนใหม่คนนี้ได้ชัดเจนขึ้น คำว่า ดีแต่หน้าตา จึงสะพัดติดปากหลาย ๆ คนในโรงเรียนภายในเวลาไม่ถึงเดือนตั้งแต่เขาย้ายเข้ามา นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าถึงสาเหตุการย้ายโรงเรียนกลางคันอีกต่าง ๆ นานา ที่เราได้ยินจูนพูดก็คือ
“เป็นลูกคนรวยก็ยังงี้แหละ ตีกับโรงเรียนอื่นไปทั่ว แล้วปรากฏว่ามีเด็กตาย พ่อแม่เลยรีบให้หนีออกมาเสียก่อน”
และ ปอนด์ เพื่อนผู้ชายคนเดียวในห้องที่นาน ๆ ทีจะพูดกับเราก็เสริมขึ้นว่า
“พ่อแม่เขาเป็นอาจารย์หมอด้วยนะ ลูกชายคนเดียวเสียคน คงเครียดไปเลย”
“เสียดายนะ รวยด้วย หล่อด้วย”
“ถ้าเขามาจีบ เอาปะล่ะ”
“เอาสิ”
“ธ่อ ผู้หญิงเขาเป็นกันแบบนี้เหรอวะ”
เราไม่ได้สนใจฟังต่อ เพราะออดดังบอกเวลาเลิกเรียน วันนี้ต้องไปรดน้ำแปลงผัก และพรวนดินก่อนกลับบ้าน ถ้าออกจากโรงเรียนช้า จะชนกับเวลาเลิกเรียนของโรงเรียนเทคนิค ทำให้รถแน่น การต้องห้อยโหนเบียดเสียดกันบนรถสองแถวเล็ก ๆ ไม่น่าสนุกเลย และเราไม่อยากนั่งรอให้เลยเวลา ๕ โมงเย็นกว่ารถจะโล่ง
ที่จริงทุกคนในชมรมต้องมาช่วยกันดูแลแปลงผัก แต่พวกจูนไม่ชอบต้นไม้ และกลัวดินเปื้อนมือ เราจึงรับอาสารับผิดชอบทั้งหมดแทน การที่พวกจูนมายืนคุยเรื่องนักเรียนในโรงเรียนไปพลาง และเรารดน้ำไปพลางก็ไม่น่าสนุกเช่นกัน การได้อยู่ในโลกส่วนตัวคนเดียวเป็นสิ่งดึงดูดใจที่สุดในการยอมรับทำงานหนักนี้
แปลงสวนครัวอยู่ด้านหลังห้องสมุด ช่วงเลิกเรียนนักเรียนมักไปเตร็ดเตร่อยู่แถวสนามบาส สนามบอล หรือโรงอาหารมากกว่า และเรือนพยาบาลที่อยู่ไม่ห่างนักก็ไม่ค่อยมีใครมาใช้บริการเท่าไร ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น การจับเพื่อนขึ้นซ้อนท้ายไปส่งโรงพยาบาลง่ายกว่า
นอกจากเกลียดวิชาพละแล้ว เรายังหกล้มบ่อยด้วย และการหกล้มขณะที่ในมือมีบัวรดน้ำจุน้ำ ๒ ลิตรก็ยิ่งทำให้ดูแย่กว่าปกตินัก
“เป็นอะไรอ่ะ ไปห้องพยาบาลไหม”
เจ็บไม่เท่ากับอาย และเลือดซิบ ๆ ที่หัวเข่าก็ทำให้ภาพที่เห็นดูเลวร้ายมากขึ้นเมื่อรวมกับน้ำที่นองบ
นพื้นซีเมนต์เปื้อนดิน น้ำตาไหลไม่ใช่เพราะเจ็บ แต่เป็นเพราะโกรธตัวเองมากกว่า เราลุกขึ้นยืนพร้อมกับที่เขาหยิบบัวรดน้ำขึ้นมา เลือดออกที่หัวเข่าเยอะขึ้น รอยแตกของขอบแปลงผักคงเจาะลึกเข้าไปในผิว เราพยายามเอามือป้ายเลือดออกเท่าไรก็ไม่หยุด เราไม่พกผ้าเช็ดหน้า และเพื่อนคนนี้ก็คงไม่มีทิชชู่ เพราะเขาพยายามลากกึ่งจูงเราไปที่ห้องพยาบาล
เรือนพยาบาลปิดแล้ว ครูห้องพยาบาลของโรงเรียนเก่าเขาที่กรุงเทพคงรอให้นักเรียนทุกคนในโรงเรียนกลับหมด แล้วจึงค่อยกลับบ้านกระมัง เขาจึงนึกว่าจะมีใครคอยช่วยเด็กนักเรียนที่เซ่อซ่าทำตัวเองเจ็บตัว เราพยายามกระพริบตาไม่ให้เขาเห็นเราร้องไห้ แต่ความชาค่อย ๆ จางหายไปความเจ็บเข้ามาแทนที่ คงเพราะสภาพกระโปรงเปียกไปครึ่งตัว เลือดซึมไหลจากแผลที่หัวเข่า และคราบน้ำตาปนดินที่เปื้อนหน้าตอนเราปาดน้ำตาทิ้งที่ทำให้เขาถามขึ้นอย่างหงุดหงิด
“กระเป๋าอยู่ไหน เดี๋ยวเราไปส่งบ้าน”
“ไม่เป็นไร เดี๋ยวเรารอให้กระโปรงแห้ง เดี๋ยวเรากลับเองได้”
“จะรอถึงพรุ่งนี้รึไง”
แล้วเขาก็เดินไปหยิบกระเป๋านักเรียนที่วางตรงโคนต้นไม้ใบหนึ่ง เขาคงแน่ใจแล้วว่าเป็นของเรา
“เราต้องล็อคห้องเครื่องมือก่อน”
“เดี๋ยวล็อคให้ เอากุญแจมา”
เรื่องที่แย่กว่าการกึ่งวิ่งกึ่งเดินให้ทันคนที่เดินนำหน้าถือกระเป๋าไปก็คือ เมื่อรู้ว่าต้องนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน เราไม่ได้กลัวว่าต้องนั่งรถคนแปลกหน้าหรอก ถ้าคนแปลกหน้าพาขึ้นสองแถวทั้งกระโปรงเปียก ๆ ไปยังจะดีเสียกว่า ไม่ใช่แค่เราขับมอเตอร์ไซค์ไม่เป็น แค่นั่งเราก็ไม่เคย พอคนขับส่งกระเป๋าของเราและเป้โรงเรียนของเขาให้เราถือ แล้วเหวี่ยงขาขึ้นคร่อมรถสองล้อสีขาวแบบที่เราไม่เคยเห็นวิ่งผ่านหน้าร้านดอกไม้ของเรามาก่อน เราก็พยายามเอาขาพาดตามโดยที่ในมือยังกอดกระเป๋าสองใบแน่น
“ทำไมนั่งยังงั้นล่ะ”
เราไม่รู้ว่าทำอะไรแปลก เพราะนอกจากพยายามกอดกระเป๋าสองใบหนัก ๆ โดยไม่ให้ตัวเองหงายหลังตกรถ เราก็นั่งไม่ต่างกับคนขับสักเท่าไร
“เกาะดี ๆ ละกัน ระวังหงายหลัง”
ตอนรถเลี้ยวออกจากโรงเรียน ไม่ค่อยมีใครเหลือแล้ว และยังไม่ถึงเวลาที่โรงเรียนเทคนิคเลิก สองข้างทางและบนถนนจึงโล่งตา ระหว่างที่เราพยายามบอกทาง คนขับก็เอื้อมมือมายึดมือเราไว้ แล้วตะโกนบอกเราว่าเกาะแน่น ๆ แล้วดึงมือเราให้ไปขยุ้มกำเสื้อด้านหน้าของเขาไว้ กระเป๋านักเรียนที่มีหนังสืออัดแน่นของเรา และเป้นักเรียนที่คงมีแต่ดินสอและสมุดการบ้าน ๒-๓ เล่มของเขาก็ไม่ได้ช่วยให้เรายึดเสื้อเขาได้ถนัดนัก ขับไปได้ครึ่งทางเขาจึงเอื้อมมือมาดึงกระเป๋าทั้งสองไปหนีบไว้ระหว่างขาตัวเอง เราจึงได้ยึดตัวคนขับได้ถนัดขึ้นทั้งสองมือ
ป้าไม่ได้อยู่ที่ร้าน เมื่อเราไขกุญแจเข้าไปจึงพบกระดาษวางไว้ที่โต๊ะเขียนว่า เอาพวงหรีดไปส่ง เฝ้าร้านด้วยนะ แม่ของนัดดาเสีย จะอยู่สวด
“มีตู้ยารึเปล่า ที่จริงเราน่าเอาเธอไปโรงพยาบาลมากกว่านะ”
เรารีบหยิบกล่องยาที่ลุงได้แจกจากอำเภอมาวางที่โต๊ะ ก่อนที่จะถูกลากไปโรงพยาบาล ค่ารักษาแผลงี่เง่าแบบนี้เอาไปซื้อข้าวกินได้หลายวันนัก
ถ้าการมีทั้งพ่อและแม่เป็นอาจารย์ของหมอทำให้ลูกทำแผลเป็น ก็คงจริงอย่างที่จูนเล่า เพื่อนใหม่คนนี้ ทั้งเช็ดแผลและติดผ้าก็อตได้เรียบร้อยกว่าครูห้องพยาบาลเสียอีก
“แม่ขายดอกไม้เหรอ เราเพิ่งเคยมาแถวนี้ ร้านข้าวแถวนี้อร่อยไหม เบื่อไปกินแถวห้าง คนเยอะ”
“นี่ร้านป้าเรา แม่เราตายไปแล้ว”
“หิวไหม ร้านข้าง ๆ นี่ข้าวอร่อยไหม ไปกินข้าวกัน เราหิวแล้ว”
เราไม่แน่ใจว่าคนกรุงเทพเขาพูดจากันแบบนี้ หรือเป็นแค่คนนี้คนเดียว แต่ก็ดีที่อย่างน้อยเราไม่ต้องคอยพูดปลอบคนที่สงสารเรา เพราะไม่มีแม่
“จะเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนไหม”
“เราต้องเฝ้าร้าน”
“งั้นเดี๋ยวไปซื้อมากินที่นี่ละกัน เธอต้องรอกินพร้อมป้ารึเปล่า จะกินอะไรเดี๋ยวซื้อมาให้”
......
หลังจากเราหลุดปากบอกเขาไปว่าปกติเรากินข้าวเลย เพราะป้ากลับไปกินข้าวเย็นที่บ้านกับลุง เขาก็รีบออกไป เราจึงวิ่งขึ้นมาเปลี่ยนเสื้อผ้า กระโปรงเราไม่ได้เปียกน้ำอย่างเดียว แต่มันผสมกับเศษดิน จนแห้งกลายเป็นโคลนติดอยู่เต็ม เราแช่กระโปรงไว้แล้วหยิบเสื้อยืด กางเกงพละตัวเก่าที่ขาดตรงหัวเข่าเมื่อตอนเราต้องสอบวิ่งแข่งแล้วหน้าทิ่มถึงเส้นชัย ๓ เมตร มาใส่อย่างเร่งรีบ เพราะเผื่อมีลูกค้ามาที่ร้าน คุณยายแผงหนังสือที่มาซื้อดอกไม้ไหว้พระทุกวันแวะมาเลือกพวงมาลัย ๒ พวง ตามด้วยเด็กนักเรียนโรงเรียนสตรีที่ซื้อกุหลาบ ๕ ดอกไปฝากเพื่อนเดินออกจากร้านไป ๕ นาที เขาก็กลับมาพร้อมก๋วยเตี๋ยว ๒ ถุง และข้าวอะไรสักอย่าง
“แถวนี้คนไม่ค่อยมีนะ แต่อาหารน่าจะอร่อย”
“........”
“มีจานใช่ไหม”
ด้านหลังของร้านเป็นครัวเล็ก ๆ ที่ไว้เก็บแต่เพียงภาชนะใส่อาหาร และตู้เย็นเล็ก ๆ ไม่มีการทำกับข้าวที่นี่ เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ก็มีแค่ทีวีเก่า ๆ บนโต๊ะกินข้าว กับพัดลม ๒ เครื่อง รวมทั้งตัวที่วางในห้องนอนเรา เราไม่เคยชวนเพื่อนมาที่บ้าน และไม่เคยมีใครมากินข้าวด้วยในมื้อเย็น นอกจากวันเสาร์ อาทิตย์ที่บางทีลุงกับป้าจะซื้ออาหารมากินที่ร้านพร้อมน้อง ๆ เขาคงสังเกตจากที่เราหันไปทางครัวโดยอัตโนมัติว่าคงเก็บจานชามไว้ที่นั่น จึงเดินเข้าไปเลือกหยิบเอาเอง เราช่วยจัดอาหารที่พอกินสัก ๕ คนวางเต็มโต๊ะ และกินไปได้ ๒-๓ คำ
“แย่ ไม่เห็นอร่อย เธอกินร้านแถวนี้ทุกวันป่ะเนี่ย”
เราพยักหน้า
“มิน่า ถึงได้ตัวแค่นี้” เขาพูดยิ้ม ๆ
เราสูง ๑๖๓ ซ.ม. และอยู่เกือบหลังสุดเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ ถ้าคนที่สูงสัก ๑๗๕ มาบอกว่าเราตัวเล็ก ก็คงจะน่าโมโหอยู่ แต่เราไม่ได้พูดอะไร เพราะจะต่อว่าคนที่ซื้อข้าวมาให้กินคงเป็นการเสียมารยาท บางทีจ่ายเงินก่อนแล้วค่อยด่ากัน อาจจะดีกว่า
“ทั้งหมดนี่เท่าไร”
“ร้อยยี่สิบ”
คนละ ๖๐ บาทสำหรับมื้อเย็นถือว่าเปลืองมาก ปกติเราใช้ไม่เกิน ๒๕ บาทเท่านั้น
“ถูกนะ อยู่ที่นี่ไม่เปลืองดี แต่ยังไม่เจอร้านอร่อย ๆ มีร้านไหนขายสเต็คไหม ที่ไม่ใช่ในห้างนะ อยากกินสเต็ค หรือร้านอาหารญี่ปุ่นน่ะ ที่นี่มีไหม”
“ไม่รู้เหมือนกัน”
“ไม่ได้เป็นคนที่นี่เหรอ”
“เป็น”
“ทำไมไม่รู้ล่ะ”
ไม่ใช่แค่ไม่เคยออกนอกจังหวัด บ้านกับโรงเรียนเท่านั้นคือที่ ๆ เรารู้จัก ป้ากับลุงไม่ได้พาเราไปไหน เขามีลูกเล็กที่ต้องดูแล แต่เราไม่ได้ตอบอะไร แค่คิดเสียดายอาหารบนโต๊ะที่คงจะเหลือทิ้ง และเงินที่ต้องจ่ายไปเปล่า ๆ ก็ทำให้เราก้มตาก้มหน้ากินข้าวอย่างหมกมุ่น จนคนที่นั่งตรงข้ามลุกขึ้นยืน
“ไม่อร่อย แต่ก็อิ่มนะ ทำไมกินช้าจัง”
ข้าวมันไก่ในจานเราหมดไปเกือบครึ่ง ในขณะที่ก๋วยเตี๋ยว ผัดผัก และข้าวมันไก่ของเขาหมดเกลี้ยง รวมทั้งแฟนต้าน้ำส้มกระป๋อง
“ทำไมกินเยอะจัง”
“หิวน่ะ”
เขาเดินไปคว้าเป้จะกลับบ้าน เราบอกให้เขารอและรีบวิ่งขึ้นไปหยิบกระเป๋าสตางค์ที่วางไว้ในห้องตอนเปลี่ยนชุด
“ไม่เป็นไร เรามาอาศัยหาเพื่อนกินข้าว แล้วเธอก็กินนิดเดียวเอง”
“ไม่ได้หรอก อุตส่าห์ขับรถมาส่ง แล้วจะเลี้ยงข้าวได้ไง”
“ก็หน้าตาเหมือนจะแหกปากร้องไห้ซะอย่างนั้น ใครก็ต้องพามาส่ง” เขาพูดยิ้ม ๆ
“งั้นเฉพาะส่วนที่เรากินก็ได้”
เขารับแบงค์ยี่สิบไปใบเดียว แล้ววิ่งออกไป
เป็นครั้งแรกในชีวิตเราที่มีเพื่อนมาที่บ้าน
No comments:
Post a Comment